Slovakia; Slovak Republic

สโลวาเกีย, สาธารณรัฐสโลวัก




     สาธารณรัฐสโลวักตั้งอยู่ในยุโรปตอนกลางและเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล เคยเป็นดินแดนที่รวมอยู่กับเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia) แต่ในต้น ค.ศ.๑๙๙๓ ได้แยกตัวออกเป็นประเทศอิสระ ใน ค.ศ. ๒๐๐๕ กรุงบราติสลาวา (Bratislava)เมืองหลวงของสโลวักเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีจอร์จดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) แห่งสหรัฐอเมริกากับประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน(Vladimir Putin) แห่งสหภาพโซเวียต การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีส่วนทำให้กรุงบราติสลาวาและสาธารณรัฐสโลวักเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
     สาธารณรัฐสโลวักหรือเรียกเดิมว่าสโลวาเกีย (Slovakia) เป็นที่อยู่อาศัยของพวกอิลลิเรียน (Illyrian) เคลต์ (Celt) และอนารยชนเยอรมันเผ่าต่าง ๆ ตามลำดับ แต่หลักฐานโบราณคดีที่เพิ่งขุดพบบริเวณโมราวานีนาดวาฮม (Moravanynad Váhom) เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า มีผู้คนอาศัยอยู่ในสโลวาเกียตั้งแต่ต้นยุคหินเก่าและบริเวณทางตอนเหนือซึ่งเป็นเขตที่ราบสูงก็มีเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ในสมัยยุคหินใหม่ด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๖ พวกสลาฟได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและเจ้าชายวราติสลาฟ (Vratislav) ผู้นำเผ่าสลาฟที่เข้มแข็งได้สร้างปราสาทบราติสลาวาขึ้นซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นสถานที่ตั้งของเมืองหลวง ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๗ พวกสลาฟก็ถูกพวกเอวาร์ (Avar) เข้ารุกรานและปกครองแต่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๘ สโลวาเกียก็ถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรแฟรงก์ของราชวงศ์คาโรลินเจียน (Carolingian) และในช่วงเวลาดังกล่าวจักรวรรดิไบแซนไทน์(Byzantine) ได้ส่งเซนต์ซิิรล (Cyril) และเซนต์มิทอดีอัส (Methodius) ซึ่งเป็นพี่น้องกันและเป็นชาวสโลวักเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสโลวาเกีย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ พวกเช็ก ซึ่งมีขุนนางตระกูลเพรมีเซิลอิด (Premyslid) เป็นผู้นำได้เคลื่อนไหวแยกตัวเป็นอิสระจากจักรวรรดิคาโรลินเจียน และต่อมารวบรวมดินแดนใกล้เคียงจัดตั้งเป็นจักรวรรดิโมเรเวียอันยิ่งใหญ่ (Great Moravian Empire) ขึ้นในปลาย
     คริสต์ศตวรรษที่ ๙ ซึ่งประกอบด้วยดินแดนโบฮีเมีย (Bohemia) โมเรเวีย (Moravia)และสโลวาเกียอย่างไรก็ตาม การรุกรานครั้งใหญ่ของพวกแมกยาร์ (Magyar) ในค.ศ. ๙๐๖ และสงครามที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกับพวกเยอรมันตอนเหนือมีส่วนทำให้จักรวรรดิโมเรเวียอันยิ่งใหญ่แตกสลายลง ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ พวกแมกยาร์ก็ได้ครอบครองสโลวาเกีย
     ใน ค.ศ. ๙๙๗ เมื่อดุ็กกีซา (G”za ค.ศ. ๙๗๒-๙๙๗) แห่งฮังการี สิ้นพระชนม์เกิดการแย่งชิงบัลลังก์ และสตีเฟน (Stephen) พระโอรสซึ่งลี้ภัยไปสโลวาเกียและได้รับการสนับสนุนจากชาวสโลวักสามารถแย่งชิงบัลลังก์กลับคืนได้ ใน ค.ศ. ๑๐๐๑สตีเฟนทรงได้รับเลือกเป็นกษัตริย์องค์แรกของฮังการี เฉลิมพระนามสตีเฟนที่ ๑(Stephen I ค.ศ. ๑๐๐๑-๑๐๓๘) โดยสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ ๒ (Sylvester II) และพระเจ้าออทโทที่ ๓ (Otto III ค.ศ. ๙๘๓-๑๐๐๒) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์(Holy Roman Empire) ให้การสนับสนุน พระเจ้าสตีเฟนที่ ๑ ทรงตอบแทนชาวสโลวักด้วยการให้อำนาจการปกครองที่เป็นอิสระ และสนับสนุนการสร้างและพัฒนาเมืองต่าง ๆ ให้มีสถานะเป็นเมืองในอำนาจของกษัตริย์ (royal towns)สโลวาเกียซึ่งมีแร่ธาตุจำนวนมากโดยเฉพาะเหล็กจึงพัฒนากลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของฮังการี และเป็นที่หมายปองของชนชาติต่าง ๆ
     ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๒ (Louis II ค.ศ. ๑๕๑๖-๑๕๒๖)พวกเติร์กซึ่งยึดครองคาบสมุทรบอลข่านได้ก่อสงครามกับฮังการี และในยุทธการที่โมฮาช(Battle of Mohács) เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๕๒๖ กองทัพฮังการี พ่ายแพ้และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๒ เสด็จสวรรคต ความพ่ายแพ้ครั้งนี้มีส่วนทำให้ฮังการี กลายเป็นประเทศที่แตกแยกภายในเวลาไม่นาน ใน ค.ศ. ๑๕๔๑ สุลต่านสุไลมานผู้เกรียงไกร(Suleiman the Magnificent) ผู้นำเติร์กก็ยึดครองกรุงบูดา (Buda) และตอนกลางของราชอาณาจักรฮังการี ได้เป็นเวลาเกือบ ๑๕๐ ปี ส่วนสโลวาเกียซึ่งสามารถต่อต้านการยึดครองของพวกเติร์กยกเว้นภูมิภาคทางตอนใต้ได้ถูกรวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) แห่งออสเตรีย ราชวงศ์ฮับส์บูร์กได้ใช้สโลวาเกียเป็นฐานอำนาจในการปกครองดินแดนฮังการี ส่วนที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองและใช้มหาวิหารเซนต์มาร์ติน (St. Martin) ซึ่งเป็นโบสถ์สำคัญประจำเมืองและยอดมหาวิหารประดับด้วยมงกุฎทองคำหนัก ๓๐๐ กิโลกรัม ในกรุงบราติสลาวาประกอบพิธีราชาภิเษกประมุขแห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์กขึ้นเป็นกษัตริย์และ
     หรือราชินีนาถแห่งฮังการี ระหว่าง ค.ศ. ๑๕๖๓-๑๘๓๐ รวมทั้งหมด ๑๙พระองค์ ในช่วงที่สโลวาเกียตกอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กนานเกือบ ๓ ศตวรรษสโลวาเกียกลายเป็นสมรภูมิระหว่างออสเตรีย กับเติร์กอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรที่มั่งคั่งร่อยหรอจนไม่สามารถฟื้นตัวได้ ต่อมา เมื่อราชวงศ์ฮับส์บูร์กสามารถขับไล่พวกเติร์กที่ยึดครองกรุงบูดาได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๖๘๖ และกลับมาปกครองฮังการี ได้อย่างมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง สโลวาเกียก็สูญเสียความสำคัญทางการเมืองลงและถูกโอนให้อยู่ในอำนาจการปกครองของฮังการี อย่างหลวม ๆ
     ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ปัญญาชนชาวสโลวักโดยเฉพาะผู้นำทางศาสนาเริ่มเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมด้วยการสร้างสรรค์งานเขียนและวรรณกรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และตำนานวีรบุรุษคนสำคัญในรูปแบบต่าง ๆ เผยแพร่เพื่อปลุกกระแสความรักชาติและกระตุ้นจิตสำนึกทางการเมืองในหมู่ประชาชนขณะเดียวกันก็มีการสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับพวกเช็ก ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีส่วนทำให้พวกเช็ก และสโลวักซึ่งแยกกันอยู่อย่างอิสระเป็นเวลาเกือบ ๑,๐๐๐ ปี เริ่มผูกพันใกล้ชิดกันและเป็นพื้นฐานของความร่วมมือทางการเมืองในการต่อต้านอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในเวลาต่อมา
     ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อเกิดการปฏิวัติค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutionsof 1848) ทั่วยุโรปซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (FrenchRevolution of 1848) ปัญญาชนชาวเช็ก สโลวัก และเยอรมันได้ร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเอง มีการจัดประชุมใหญ่ของพวกสลาฟขึ้นที่กรุงปราก (Prague) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๘ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญและกำหนดแนวนโยบายการปกครอง แต่ปัญหาความขัดแย้งในแนวทางการปกครองและการต่อสู้ทำให้การเคลื่อนไหวกระจัดกระจายและขาดพลังทั้งประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ร่วมสนับสนุน จักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire) ซึ่งสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองได้จึงส่งกองทัพเข้าปราบปราม และปกครองทั้งพวกเช็ก และสโลวักอย่างเข้มงวดอีกครั้ง
     อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ออสเตรีย ซึ่งแย่งชิงความเป็นผู้นำในดินแดนเยอรมันกับปรัสเซีย พ่ายแพ้ปรัสเซีย ในสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven WeeksûWar) ความพ่ายแพ้ดังกล่าวไม่เพียงนำความอัปยศมาสู่ราชวงศ์ฮับส์บูร์กอย่างมากเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลให้ชนชาติต่าง ๆ ใต้การปกครองโดยเฉพาะฮังการี พยายาม
     แยกตัวเป็นอิสระ จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟที่ ๑ (Francis Joseph I ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖) จึงทรงเปิดการเจรจากับฮังการี เพื่อพิจารณารูปแบบการปกครองใหม่ระหว่างดินแดนทั้งสองซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy) และการสถาปนาจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี (Austro-Hungarian Empire) ใน ค.ศ. ๑๘๖๗ระบอบราชาธิปไตยคู่ทำให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กสามารถปกครองฮังการี ต่อได้อีกเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี และฮังการี ได้สิทธิการปกครองสโลวาเกียโดยตรง ฮังการี จึงเริ่มใช้นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบฮังการี (Magyarization) ในการปกครองสโลวาเกีย สโลวาเกียได้สนับสนุนพวกเช็ก ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองโดยให้ราชอาณาจักรโบฮีเมียมีสถานภาพเท่าเทียมกับฮังการี แม้การเคลื่อนไหวดังกล่าวของพวกเช็ก จะล้มเหลวแต่ก็ทำให้พวกเช็ก กับสโลวักผูกพันใกล้ชิดกันมากขึ้น และต่างตระหนักว่าการผนึกกำลังร่วมกันจะมีส่วนทำให้การต่อสู้ทางการเมืองประสบความสำเร็จมากกว่าการเคลื่อนไหวอย่างอิสระตามลำพัง
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ปัญญาชนชาตินิยมทั้งชาวสโลวักและเช็ก จัดการประชุมที่เรียกว่าการประชุมใหญ่ของประชาชนที่ถูกกดขี่ของฮังการี (Congress of OppressedPeoples of Hungary) ขึ้นที่กรุงบูดาเปสต์ (Budapest) เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและอำนาจการปกครองตนเอง ผลสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือแนวความคิดการร่วมมือและช่วยเหลือกันระหว่างเช็ก กับสโลวักเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่ประชาชนของทั้งสองดินแดน และมีการจัดตั้งกลุ่มสนับสนุนสโลวาเกียขึ้นที่กรุงปรากปัญญาชนสโลวักจึงเริ่มรณรงค์เคลื่อนไหวการมีผู้แทนในรัฐสภาฮังการี และมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว พรรคการเมืองที่สำคัญคือพรรคชาติสโลวัก (Slovak National Party) และพรรคพับลิกสโลวัก (SlovakPublic Party) ขณะเดียวกันปัญญาชนเสรีนิยมก็จัดทำวารสาร Hlas (Voice) เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความคิด ต่อมาในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๐๖ สโลวาเกียก็ประสบความสำเร็จในการมีผู้แทน ๗ คนในรัฐสภาฮังการี ทั้ง ๆ ที่ถูกขัดขวางและคุกคามจากรัฐบาลฮังการี ชัยชนะทางการเมืองดังกล่าวทำให้รัฐบาลฮังการี หันมาใช้มาตรการเข้มงวดปกครองสโลวาเกียมากขึ้น เคานต์อัลเบิร์ต อัปพอนยี (AlbertApponyi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ผลักดันกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ที่รู้จักกันว่า กฎหมายอัปพอนยี (Apponyi Act) บังคับให้โรงเรียนทุกแห่งใช้ภาษาฮังการี ในการเรียนการสอนเป็นเวลา ๔ ปี นอกจากนี้รัฐบาลยังควบคุมสื่อมวลชน
     และห้ามองค์การศาสนาแต่งตั้งพระหรือเสนอชื่อแต่งตั้งพระที่มาจากท้องถิ่นโดยรัฐบาลจะเป็นผู้แต่งตั้งพระจากส่วนกลางมาปกครองเอง นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นฮังการี ที่เข้มข้นมากขึ้นได้นำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลฮังการี ที่รุนแรงมากขึ้น
     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ชาวสโลวักร่วมมือกับพวกเช็ก ต่อต้านฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers) และมิลัน ราสติสลาฟ สเตฟานิก (Milan RastislavStefanik) ผู้นำชาวสโลวักชาตินิยมสัญชาติฝรั่งเศส ได้จัดตั้งขบวนการเรียกร้องเอกราชขึ้นที่กรุงปารีส สเตฟานิกได้ร่วมมือและประสานงานกับเอดูอาร์ด เบเนช
     (Eduard Benes) ผู้นำชาวเช็ก จัดตั้งสภาแห่งชาติเชโกสโลวัก (CzechoslovakNational Council) ขึ้นเพื่อเป็นแกนนำในการต่อสู้เพื่อเอกราชประเทศพันธมิตรตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองดังกล่าวอย่างมาก ในช่วงปลายสงครามสภาแห่งชาติเชโกสโลวักจึงประกาศเอกราชแยกตัวจากจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘และสโลวักก็ประกาศที่จะรวมเข้าเป็นประเทศเดียวกันกับพวกเช็ก โดยใช้ชื่อประเทศว่าเชโกสโลวะเกีย อีก ๑๔ วันต่อมาก็มีการประกาศตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นเพื่อปกครองประเทศในระบอบสาธารณรัฐ มีการจัดตั้งสภาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญตามแบบรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ ๓ (Third FrenchRepublic ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๑๔) และให้ปรากเป็นเมืองหลวงของประเทศใหม่
     อย่างไรก็ตาม ปัญหาความแตกต่างระหว่างพวกเช็ก กับสโลวักก็ทำให้การบริหารปกครองประเทศไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ชาวสโลวักมีจำนวนมากกว่าเช็ก และส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งยอมรับอำนาจขององค์การศาสนจักร แต่ผู้นำประเทศชาวเช็ก ต้องการควบคุมอำนาจของศาสนจักร นอกจากนี้พื้นฐานเศรษฐกิจของสโลวักเป็นเกษตรกรรมและล้าหลังด้านอุตสาหกรรม ในขณะที่เช็ก เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าและมั่งคั่งกว่า ชาวสโลวักโดยทั่วไปยังมีการศึกษาน้อยและขาดประสบการณ์ทางการเมืองในการปกครองตนเอง ดังนั้นการปกครองจากส่วนกลางที่ควบคุมโดยพวกเช็ก จึงสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวสโลวัก ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๙ รัฐบาลกลางพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจของสโลวาเกียให้เป็นอุตสาหกรรม แต่ประสบความล้มเหลวเพราะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ ปัญหาทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจดังกล่าวได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มสโลวักชาตินิยมหัวรุนแรง
     ในการต่อต้านรัฐบาลกลางและการเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างชาวสโลวักกับชาวเช็ก ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการเพิ่มอำนาจการปกครองแก่สโลวาเกีย บาทหลวงอันเดร ฮลิงกา (Andrej Hlinka) และโดยเฉพาะบาทหลวงยอเซฟ ทิซอ (Jozef Tiso)คือแกนนำคนสำคัญของการเคลื่อนไหว ในเวลาต่อมาทิซอได้ติดต่อกับรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งมีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เป็นผู้นำโดยสัญญาจะให้การสนับสนุนเยอรมนี หากเยอรมนี สามารถช่วยให้สโลวาเกียเป็นอิสระจากเช็ก
     ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งพยายามหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามกับเยอรมนี ด้วยการดำเนินนโยบายเอาใจอักษะประเทศ(Appeasement Policy) ได้บีบบังคับเชโกสโลวะเกียให้ยกซูเดเทนลันด์ (Sudetenland)แก่เยอรมนี ตามความตกลงมิวนิก (Munich Agreement) ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันโปแลนด์ และฮังการี ก็เห็นเป็นโอกาสเข้ายึดแคว้นเทเชน (Teschen) และดินแดนทางตอนใต้ของเชโกสโลวะเกีย การแบ่งดินแดนเชโกสโลวะเกียดังกล่าวทำให้ผู้นำชาวสโลวักหวาดวิตกว่ารัฐบาลกลางจะไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของสโลวาเกียได้ สโลวาเกียจึงจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเองขึ้นและร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมสถาปนาสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกียที่ ๒ ขึ้น แต่ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๘เมื่อเยอรมนี ละเมิดความตกลงมิวนิกด้วยการส่งกองทัพเข้ายึดครองดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวะเกีย และยาตราทัพเข้ายึดกรุงปรากในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙สโลวาเกียจึงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐสโลวัก (Slovak Republic) ขึ้นอยู่ใต้การอารักขาของเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ และมีบาทหลวงทิซอเป็นผู้นำประเทศ
     ต่อมา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ สโลวาเกียก็ประกาศสงครามกับฝ่ายประเทศพันธมิตรโดยสนับสนุนเยอรมนี และยอมให้กองทัพเยอรมันเข้ามาตั้งมั่นภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีทิซอดำเนินนโยบายสนับสนุนเยอรมนี ทุก ๆ ด้านใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เมื่อเยอรมนี เริ่มใช้มาตรการสุดท้าย (Final Solution) ในการกวาดล้างชาวยิวทั่วยุโรปซึ่งทำให้ชาวยิวทั้งในเยอรมนี และในประเทศที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของเยอรมนี เสียชีวิตรวมกันเกือบ ๖,๐๐๐,๐๐๐ คนในเวลาต่อมา รัฐบาลสโลวาเกียได้กวาดต้อนชาวสโลวักเชื้อสายยิวรวมทั้งประชากร “ที่ไม่พึงปรารถนา”(undesirables) เช่น พวกยิปซี (Gypsies) กว่า ๗๐,๐๐๐ คนส่งไปค่ายกักกัน(Concentration Camp) ที่เอาช์ิวตซ์ (Auschwitz) ในโปแลนด์ ตะวันออกโดยทิซอ
     โกหกประชาชนว่าเป็นการอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวยิวนอกประเทศ การเข่นฆ่าชาวยิวครั้งนี้จึงเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ของประเทศและส่งผลให้จำนวนชาวยิวที่มีมากถึงร้อยละ ๔ ของจำนวนประชากรเช็ก และสโลวักรวมกันเหลืออยู่เพียงนับหมื่นคนเท่านั้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างสงครามชาวสโลวักจำนวนไม่น้อยก็ต่อต้านการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และรวมตัวจัดตั้งเป็นขบวนการต่อต้านใต้ดิน ขบวนการต่อต้านใต้ดินได้ร่วมมือกับกลุ่มชาตินิยมสโลวักและพวกรักชาติกลุ่มต่าง ๆ จัดตั้งสภาแห่งชาติสโลวัก (Slovak National Council) ขึ้นโดยมีกุสตาฟ ฮูซาก (Gustav Husak) คอมมิวนิสต์แนวอนุรักษ์เสรีนิยมเป็นผู้นำ ในปลายฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๔๔ สภาแห่งชาติสโลวักได้เคลื่อนไหวล้มอำนาจรัฐบาลเยอรมันการเคลื่อนไหวต่อต้านดังกล่าวรู้จักกันในเวลาต่อมาว่าการลุกฮือของประชาชาติสโลวัก(Slovak National Uprising)
     เมื่อเยอรมนี พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ สโลวาเกียรวมเข้ากับเช็ก อีกครั้งหนึ่ง เชโกสโลวะเกียได้ดินแดนซึ่งมีพื้นที่เกือบเท่ากับช่วงก่อนความตกลงมิวนิกค.ศ. ๑๙๓๘ โดยสูญเสียรูทีเนีย (Ruthenia) และพื้นที่ีอกเล็กน้อยทางตะวันออกให้แก่สหภาพโซเวียต นายกรัฐมนตรีทิซอถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาทรยศต่อประเทศชาติและร่วมมือกับเยอรมนี เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกจำนวนไม่น้อยก็ถูกจับจำคุกด้วย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๘ รัฐบาลผสมซึ่งมีเคลเมนต์ กอตต์วัลด์(Klement Gottwald) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เป็นนายกรัฐมนตรีได้บริหารประเทศกอตต์วัลด์ได้รวมอำนาจการปกครองและดำเนินการกำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามจนมีอำนาจเด็ดขาดใน ค.ศ. ๑๙๕๓ อย่างไรก็ตาม การปราบปรามประชาชนและการดำเนินนโยบายสนับสนุนสหภาพโซเวียตทุก ๆ ด้าน ทำให้ฮูซากซึ่งเป็นประธานคณะรัฐมนตรีแห่งสโลวัก (Slovak Board of Commissioners) เคลื่อนไหวต่อต้านแต่ล้มเหลว เขาถูกขับออกจากพรรคและถูกจำคุกตลอดชีวิต
     ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำสหภาพโซเวียตที่สืบต่อจากโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) เริ่มดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization) ทั้งในสหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกอันโตนิน นอวอตนี(Antonin Novotny) ประธานาธิบดีเชโกสโลวะเกีย
     จึงถูกบีบให้ปฏิรูปการเมือง อะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubcek)นักปฏิรูปชาวสโลวักได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และเขาดำเนิน
     นโยบายปกครองประเทศอย่างยืดหยุ่นทั้งปล่อยนักโทษการเมืองจำนวนมากซึ่งรวมทั้งฮูซากด้วย ฮูซากจึงเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองมากขึ้น และต้องการให้สโลวาเกียจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเอง ต่อมาเมื่อดูบเชกได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เขาได้เชิญฮูซากซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยของสโลวาเกียเข้าร่วมในคณะรัฐบาลด้วย
     การก้าวสู่อำนาจของดูบเชกทำให้เชโกสโลวะเกียเป็นช่วงสมัยแห่งการปฏิรูปประเทศและบรรยากาศเสรีซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก(Prague Spring) ดูบเชกเน้นว่านโยบายปฏิรูปไม่ได้มีจุดมุ่งหมายจะทำลายระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แต่เป็นเพียงเพื่อปรับระบอบสังคมนิยมให้มีมนุษยธรรมมากขึ้น (Socialism with a Human Face) แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ โดยเฉพาะโปแลนด์ และเยอรมนี ตะวันออก เลโอนิด เบรจเนฟ (LeonidBrezhnev) ผู้นำสหภาพโซเวียตซึ่งหวาดวิตกว่าการปฏิรูปแนวทางประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกียจะทำลายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตจึงส่งกองทัพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization - WTO) บุกปราบปรามขบวนการปฏิรูปในเชโกสโลวะเกียเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ดูบเชกถูกปลดจากตำแหน่งและสหภาพโซเวียตสนับสนุนฮูซากเข้าดำรงตำแหน่งแทนในเดือนเมษายนค.ศ. ๑๙๖๙ นอกจากนี้ สหภาพโซเวียตยังประกาศหลักการเบรจเนฟ (BrezhnevDoctrine) ที่เน้นพันธะหน้าที่และสิทธิของสหภาพโซเวียตในการเข้าแทรกแซงทางทหารในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเพื่อปราบปรามศัตรูของระบอบสังคมนิยมและเสริมสร้างความมั่นคงของระบอบสังคมนิยม บรรยากาศความตึงเครียดของสงครามเย็น (Cold War) จึงกลับมาครอบงำการเมืองยุโรปอีกครั้งหนึ่ง
     ในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ ฮูซากประกาศยกเลิกแนวนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการปล่อยราคาให้ยึดหยุ่นตามกลไกตลาดและส่งเสริมการค้ากับประเทศตะวันตกด้วยการหันมายึดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบโซเวียตโดยกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan) และส่งเสริมการร่วมมือทางการค้ากับประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญคือ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๖๐ โดยรวมตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์กับประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งเดียวกัน และเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นระบบ
     สหพันธรัฐ (Federative System) โดยมี๒ รัฐ คือ รัฐเช็ก และสโลวัก แต่ละรัฐมีรัฐบาลของตนเองและมีอำนาจเท่าเทียมกันในการตัดสินนโยบายภายในรัฐอย่างอิสระและกว้างขวางทั้งสามารถแยกตัวออกจากสหพันธ์สาธารณรัฐได้
     ในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ และทศวรรษ ๑๙๘๐ กลุ่มปัญญาชนเสรีนิยมทั้งในเช็ก และสโลวักเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการควบคุมสื่อมวลชน และให้ผ่อนปรนความเข้มงวดทางสังคมโดยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น ในรัฐเช็ก การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เรียกว่ากลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77) ขึ้นโดยมีวาซลาฟ ฮาเวล (VaclavHavel) นักเขียนบทละครแนวเสียดสีเป็นผู้นำ ส่วนในรัฐสโลวักการเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชนนอกรีต (dissident)ยังคงอยู่ในขอบเขตจำกัดและอยู่ในแวดวงของศาสนา มีการใช้การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นการชุมนุมแสดงออกในการต่อต้านรัฐบาล และในวันสำคัญทางศาสนาก็มีการรวมตัวกันเฉลิมฉลองและชุมนุมแสดงความคิดเห็นซึ่งในเวลาอันสั้นได้พัฒนากลายเป็นการชุมนุมระดับชาติในแนวทางสันติิวีธ รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์พยายามกวาดล้างปราบปรามการแสดงออกของประชาชนและใช้มาตรการบังคับด้วยการเนรเทศปัญญาชนที่เป็นแกนนำทางความคิดออกนอกประเทศ แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
     ในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ เมื่อ ๓ รัฐบอลติก (Baltic States) เคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหภาพโซเวียต กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกก็เห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวล้มล้างอำนาจการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์โดยเริ่มจากโปแลนด์ และทำให้เกิดการปฏิวัติค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989) ทั่วรัฐบริวารโซเวียต กลุ่มกฎบัตร ๗๗ และกลุ่มฝ่ายค้านต่าง ๆ จึงผนึกกำลังรวมเข้าเป็นขบวนการที่เรียกชื่อว่า ซีิวกโฟรัม(Civic Forum) และเรียกร้องการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ชาวสโลวักได้ร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนซีวิกโฟรัมด้วยและมีการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมได้ต้องขอเปิดการเจรจากับฮาเวลผู้นำซีิวกโฟรัมในปลายเดือนพฤศจิกายน และในท้ายที่สุดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และสมาชิกคนสำคัญในคณะรัฐบาลก็ประกาศลาออก มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมชั่วคราวขึ้นบริหารประเทศ และพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็เริ่มจัดตั้งขึ้นเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงทาง
     การเมืองที่ราบรื่นนี้เป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “เวลเวตเรโวลูชัน”(Velvet Revolution)ในกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๐ คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ก็ได้เลือกฮาเวลเป็นประธานาธิบดีของประเทศ และมาเรียน ชัลฟ้า (Marián Calfa)นักการเมืองชาวสโลวักเป็นรองประธานาธิบดี ส่วนดูบเชกซึ่งกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งก็ได้รับเลือกเป็นประธานรัฐสภา เชโกสโลวาเกียได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเช็ก และสโลวัก (Czech and Slovak Federal Republic)
     รัฐบาลใหม่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเช็ก และสโลวักได้พยายามปฏิรูป๖การเมืองและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจากการควบคุมจากส่วนกลางเป็นระบบตลาดเสรีมีการแปรรูปวิสาหกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของรัฐ และกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศรวมทั้งพยายามควบคุมเงินเฟ้อและแก้ไขปัญหาการว่างงานแต่การปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมากต่อสโลวาเกียซึ่งพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งเท่ากับเช็ก กลุ่มการเมืองในสโลวักจึงเคลื่อนไหวต่อต้านแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ และเรียกร้องการแยกตัวออกจากสหพันธ์สาธารณรัฐเช็ก และสโลวัก ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวขยายตัว
     กว้างมากขึ้น เมื่อวลาดีมีร์ เมเชียร์ (Vladimr Meciar) ผู้นำคนหนึ่งของพรรคขบวนการเพื่อประชาธิปไตยสโลวาเกีย (Movement for a Democratic SlovakiaParty - HZDS) ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของสโลวัก และวาซลาฟ เคลาส์(Václav Klaus) ผู้นำหัวอนุรักษ์พรรคประชาธิปไตยพลเรือน (Civic DemocraticParty) ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของเช็ก นายกรัฐมนตรีทั้ง ๒ คนขัดแย้งกันในแนวทางการปฏิรูปประเทศและการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ประธานาธิบดีฮาเวลไม่สามารถแก้ไขได้ และต่อมาก็ต้องลาออกจากตำแหน่งแม้จะมีการเจรจาหารือเพื่อหาทางประนีประนอมกันระหว่างนักการเมืองชาวสโลวักกับเช็ก หลายครั้ง แต่ก็ประสบความล้มเหลว หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๒ มีการประกาศว่าสหพันธ์สาธารณรัฐเช็ก และสโลวักจะแยกตัวออกจากกัน และในเดือนกรกฎาคม รัฐสภาสโลวักก็ประกาศอำนาจอธิปไตยเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ในเดือนพฤศจิกายนต่อมารัฐบาลกลางของสหพันธ์ก็ลงมติให้การแยกตัวของสโลวักมีผลสมบูรณ์ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ทั้ง ๆ ที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ของทั้ง ๒ รัฐต่างคัดค้านการแยกตัวออก ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๓ เชโกสโลวะเกียก็ถูกแบ่งเป็น๒ ประเทศ คือ สาธารณรัฐเช็ก และสาธารณรัฐสโลวัก
     หลังการแยกตัวเป็นเอกราช สโลวักนำธงชาติเดิมที่ใช้ใน ค.ศ. ๑๘๔๘กลับมาเป็นธงประจำชาติประกอบด้วยสามสีคือ ขาว น้ำเงิน และแดง โดยมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปไม้กางเขน ๒ ชั้นปักอยู่บนภู เขาลูกกลางในจำนวน ๓ ลูกมีการประกาศการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐและแบ่งเขตการปกครองเป็น ๔ ภาค คือ บราติสลาวา สโลวักภาคตะวันตก (West Slovak)สโลวักภาคตะวันออก (East Slovak) และสโลวักภาคกลาง (Center Slovak)หัวหน้ารัฐบาลคือประธานาธิบดีซึ่งสภาแห่งชาติ (National Council) เป็นผู้เลือกโดยต้องได้คะแนนเสียง ๓ ใน ๕ ของจำนวนสมาชิกสภาแห่งชาติที่มีจำนวน ๑๕๐ คนประธานาธิบดีมีวาระ ๕ ปี และมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรี รวมทั้งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินกว่าร้อยละ ๕ ในการเลือกตั้งทั่วไปสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าเป็นสถาบันการเมืองมีอำนาจสูงสุด
     ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๓ มีคาเอลคอวาตซ์ (Michael Kovac) คู่ปรับของนายกรัฐมนตรีเมเชียร์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ แต่ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและแนวนโยบายการบริหารประเทศของคนทั้งสองทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ ในเดือนมีนาคมค.ศ. ๑๙๙๔ เมเชียร์ก็ถูกบีบให้ลาออก และยอเซ มกราวิก (Josej Mgravik)ผู้นำพรรคสหภาพประชาธิปไตยสโลวาเกีย (Democratic Union of Slovakia Party)ซึ่งสนับสนุนประธานาธิบดีได้เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่มีเสถียรภาพขึ้นจึงเริ่มนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจเอกชนตลอดจนส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ขณะเดียวกันประธานาธิบดีคอวาตซ์ก็ดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมากกว่าสหภาพโซเวียตและแก้ไขข้อขัดแย้งกับฮังการี สโลวักมีพลเมืองเชื้อสายฮังการี อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและชนกลุ่มนี้มักเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นอิสระทางวัฒนธรรมด้วยการใช้ภาษาฮังการี ในโรงเรียนและการรักษาธรรมเนียมประเพณีของฮังการี ชาวสโลวักจึงหวาดระแวงว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ฮังการี เข้าแทรกแซงทั้งนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันระหว่างพลเมือง ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ รัฐบาลของทั้ง ๒ ประเทศสามารถตกลงกันได้ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาแห่งมิตรภาพและความร่วมมือกัน (Treaty of Friendship and Cooperation) โดยยืนยันรับรอง
     เส้นเขตแดนสโลวัก-ฮังการี และทั้ง ๒ ฝ่ายจะปกป้องและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในประเทศ
     ในการเลือกตั้งทั่วไปในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๙๔ พรรคขบวนการเพื่อประชาธิปไตยสโลวาเกียได้คะแนนเสียงเลือกตั้งร้อยละ ๓๕ ซึ่งทำให้เมเชียร์ประกาศที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคชาติสโลวัก (Slovak National Party)ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาชาตินิยมอย่างไรก็ตาม ทั้ง ๒พรรคการเมืองก็ยังไม่ได้เสียงข้างมากในรัฐสภา เมเชียร์จึงโน้มน้าวพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายให้เข้าร่วมสนับสนุนจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นในเดือนธันวาคม โดยเมเชียร์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เขาดำเนินนโยบายสวนทางกับประธานาธิบดีคอวาตซ์ด้วยการชะลอการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและเข้าควบคุมวิทยุและโทรทัศน์เพื่อใช้เป็นสื่อเผยแพร่นโยบายของรัฐบาลทั้งปกครองประเทศในลักษณะเผด็จการมากขึ้น ขณะเดียวกันก็หันไปปรับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตและลดความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกลง ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ บุตรชายของประธานาธิบดีคอวาตซ์คู่ปรับของเมเชียร์ซึ่งทางการเยอรมนี สอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตได้ถูกลักตัวข้ามพรมแดนออสเตรีย และต่อมาถูกสังหาร เมเชียร์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการลักพาตัวครั้งนี้ แม้เมเชียร์จะรอดพ้นจากข้อกล่าวหาเพราะปราศจากหลักฐานแต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็มีส่วนทำให้เขาเสื่อมความนิยมลงในหมู่ประชาชน
     ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๙๘ สหรัฐอเมริกาซึ่งวิตกว่าเมเชียร์จะกลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้งได้ให้เงินสนับสนุนการเลือกตั้งเพื่อรณรงค์ลับ ๆ ให้ประชาชนมาลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่เมเชียร์ซึ่งเป็นฝ่ายกุมเกมการเลือกตั้งได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการเลือกตั้งกลับเข้ามาในรัฐสภาอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ ๒๗ อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองอื่น ๆ ผนึกกำลังต่อต้านเขาไม่ให้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้และเลือกมีคูลาส ดซูิรนดา (MykulasDzurinda) ผู้นำพรรคคริสเตียนประชาธิปไตย (Christan Democratic Party) เป็นนายกรัฐมนตรี ดซูิรนดาหันมาดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจีอกครั้งหนึ่งและพยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อและการว่างงาน เขารื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกและดำเนินนโยบายผลักดันสโลวักให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic TreatyOrganization - NATO) และสหภาพยุโรป (European Union) ใน ค.ศ. ๑๙๙๙
     เมเชียร์ซึ่งต้องการกลับสู่อำนาจทางการเมืองได้ลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแต่พ่ายแพ้อย่างย่อยยับต่อรูดอล์ฟ ชุสเตอร์ (Rudolf Schuster) นายกเทศมนตรีแนวปฏิรูปแห่งคอชีเซ (Kosice) ความพ่ายแพ้ดังกล่าวทำให้เมเชียร์ประกาศถอนตัวจากการเมือง อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๔ เขาลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งแต่ก็พ่ายแพ้แก่ีอวาน กาชปาโรวิช (Ivan Gasparovic) ในปีเดียวกัน สโลวักได้เข้าเป็นสมาชิกทั้งขององค์การนาโตและสหภาพยุโรป และในค.ศ. ๒๐๐๕ สโลวักก็ให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรป.
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐสโลวัก (Slovak Republic)
เมืองหลวง
บราติสลาวา (Bratislava)
เมืองสำคัญ
คอชีตเซ (Kosice)
ระบอบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๔๘,๘๔๕ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : สาธารณรัฐเช็ก และประเทศโปแลนด์ทิศตะวันออก : ประเทศยูเครน ทิศใต้ : ประเทศฮังการีทิศตะวันตก : ประเทศออสเตรีย
จำนวนประชากร
๕,๔๔๗,๕๐๒ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
สโลวักร้อยละ ๘๕.๘ ฮังการีร้อยละ ๙.๗ โรมาร้อยละ ๑.๗ รูทีเนียและยูเครนร้อยละ ๑ อื่น ๆ และไม่ระบุร้อยละ ๑.๘
ภาษา
สโลวัก
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๖๘.๙ นิกายโปรเตสแตนต์ ร้อยละ ๑๐.๘ นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๔.๑ อื่น ๆ และ ไม่ระบุร้อยละ ๓.๒ ไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๑๓
เงินตรา
สโลวักโครูนา (Slovak koruna)
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป